f
title
แขวงทางหลวงกรุงเทพ
Bangkok Highway District
วิสัยทัศน์ : ระบบทางหลวงที่สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กรมทางหลวง จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงปีที่ 111 พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวงอย่างยั่งยืน
ลงวันที่ 03/04/2566

วันนี้ (1 เมษายน 2566) นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงปีที่ 111 ปี โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานกรมทางหลวง และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับและเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ณ บริเวณอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญกรมทางหลวง โดยในช่วงเช้าได้มีพิธีบวงสรวงพระวิษณุกรรม พระภูมิเจ้าที่ เทพารักษ์ พิธีสงฆ์ และพิธีเทวาภิเษก องค์พระวิษณุกรรมจำลอง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรของกรมทางหลวง

กรมทางหลวงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 131 ตรงกับ พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนถึงวันนี้เป็นปีที่ 111 ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนควบคุมและดูแลรักษาทางหลวงในความรับผิดชอบจำนวน 1,528 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 52,000 กิโลเมตร เชื่อมโยงโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อในทุกมิติ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวงอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกรมทางหลวงตระหนักถึงภารกิจอันสำคัญยิ่งเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามวิสัยทัศน์ของกรมทางหลวงที่ว่า “ระบบทางหลวงที่สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” โดยได้ดำเนินโครงการที่สำคัญเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ
(1) การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิตอย่างยั่งยืน ลดปัญหาการจราจรติดขัด ประชาชนสามารถสัญจรได้ด้วยความสะดวกและปลอดภัย

(2) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (สายบางปะอิน – นครราชสีมา), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (สายบางขุนเทียน - เอกชัย – บ้านแพ้ว), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนด้านตะวันตก) ซึ่งอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการดำเนินโครงการฯ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณ โดยจะขอเงินงบประมาณสมทบปี 2567 และเจรจากับแหล่งเงินกู้ พิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ รวมถึงการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (MR - MAP) เพื่อพิจารณาวางแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับแนวเส้นทางรถไฟ

(3) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกสำหรับรองรับการลงทุนและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียน

(4) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายใหม่เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน) อยู่ระหว่างการพิจารณาแหล่งงบประมาณร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(5) การพัฒนาจุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) และสถานีตรวจสอบน้ำหนักเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางและป้องกันความเสียหายของโครงข่ายทางหลวง และ (6) การพัฒนาตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่สำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้ใช้ทาง เช่น การพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่นำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บเงินบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และการปรับความเร็วสูงสุดบนทางหลวงเป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำหรับเส้นทางที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 เป็นต้น

นอกจากภารกิจด้านการก่อสร้างแล้ว กรมทางหลวงยังมีภารกิจในการบำรุงรักษาทางและสะพานบนทางหลวงให้มีความสะดวกและปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดำเนินการปรับปรุงทางหลวงและจุดบริการประชาชนให้สวยงามด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่โดยรอบตามนโยบาย “คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว เช่น จุดเช็คอินดอยอินทนนท์ บนทางหลวงหมายเลข 1009 จังหวัดเชียงใหม่ และจุดเช็คอินโค้งปิ้งงู บนทางหลวงหมายเลข 213 จังหวัดสกลนคร เป็นต้น นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมและประชาชนอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งจุดให้บริการประชาชนเพื่อรองรับการเดินทาง, การบริหารจัดการจราจรเพื่อเปิดช่องทางพิเศษร่วมกับตำรวจทางหลวง, การเข้าร่วมดำเนินการช่วยเหลือ ในกรณีอุบัติเหตุและแก้ไขกรณีอุบัติภัยต่าง ๆ, การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง ช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวต่อเนื่อง, การบูรณาการร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคแจกจ่ายน้ำประปาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อลดและป้องกันฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

กรมทางหลวงพร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวงอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยจะยังคงยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ


'